Banner

-----[FreeSplanS.com]-----ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์-----

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ใครอยากมีบ้านประหยัดพลังงานยกมือขึ้น ?


 
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ “รักโลก” หรือด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า ต้องการ “ประหยัด” บ้านต้นแบบของอาจารย์สุนทร บุญญาธิการ จะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดที่ว่า บ้านประหยัดพลังงานเป็นบ้าน “ต้นทุนสูง”
นวัตกรรมที่ออกมามากมายทำให้ บ้านประหยัดพลังงานยุคใหม่ก่อสร้างง่ายขึ้น แม้ว่าแท้จริงแล้วบ้านเหล่านั้นเป็นแค่ “บ้านลดความร้อน” และประหยัดพลังงานไฟฟ้าก็ตาม

ทั้งนี้การจะเป็นบ้านประหยัดพลังงานที่ สมบูรณ์แบบได้ พื้นฐานต้องอาศัยประโยชน์จากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และต้องเป็นการประหยัดแบบองค์รวม ซึ่งการจะเป็นบ้านประหยัดพลังงานแบบเต็มรูปแบบได้นั้น ไม่เพียงแต่ “ดีไซน์” บ้านให้ประหยัดพลังงานได้ แต่ยังต้องดีไซน์ “พฤติกรรม” คนอยู่อาศัยในบ้านนั้นให้ใช้พลังงานอย่างพอเพียงด้วยเช่นกัน

“ส่วน หนึ่งเราต้องอยู่อย่างพอเพียงด้วย ถ้าใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ก็ไร้ประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่งต้องรู้จักดึงพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เป็น”

ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวพร้อมขยายความว่า

“เราสามารถติดโซลาเซล เพื่อผลิตไฟฟ้า และนำน้ำภายในบ้านมาหมุนเวียนใช้ได้ แต่ต้องยอมรับว่า ได้ในปริมาณที่จำกัด ถ้าเราใช้เกินกำลังการผลิต ก็สิ้นเปลืองอยู่ดี”

บ้าน เดี่ยวบนเนื้อที่ 200 ตร.ว. มีพื้นที่ใช้สอย 145 ตร.ม. ได้รับการดีไซน์ให้เป็นบ้านประหยัดพลังงาน “เต็มรูปแบบ” ประหยัดทั้งไฟ น้ำ แก๊ส

ที่สำคัญบ้านหลังนี้ผลิตพลังงานทั้งหมด “ใช้ได้เอง”
อาจารย์ เล่าให้ฟังว่า ไอเดียของการพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานคอนเซ็ปต์นี้เริ่มต้นมาจาก ภรรยาเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องอยู่อาศัยในบ้านที่มีฝุ่นน้อย จึงออกแบบบ้านด้วยการศึกษาลักษณะทางธรรมชาติของกรุงเทพฯ ทิศของลม ทิศของแสง การวางมุมเอียงของหลังคา ต้องอยู่ที่องศาเท่าไรของละติจูดกรุงเทพฯ เพื่อให้ฝุ่นบนหลังคามีน้อย จนเมื่อศึกษาอย่างละเอียดแล้วลองก่อสร้างจึงเริ่มกลายเป็นบ้านประหยัด พลังงานต้นแบบ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถือว่าปัจจุบันได้แบบบ้านประหยัดพลังงานที่ สมบูรณ์แบบแล้ว

การออกแบบตัวบ้านต้องให้บ้านดึงพลังงานจากธรรมชาติ ลม แสงแดด มาใช้อย่างเหมาะสม พร้อมกับใช้เทคนิคด้านวัสดุ ประกอบด้วย
1. หลังคาฉนวนกันความร้อน  และติดโซลาเซล
2. ใช้ประตู หน้าต่าง PVC เพื่อป้องกันความร้อนและความชื้น พร้อมกับออกแบบกระจกไม่ให้โดนแดด
3. เลือกใช้ผนังกันความร้อน แบบโฟมผสมปูน ซึ่งกันความร้อนได้ดีกว่าแบบก่ออิฐฉาบปูน 50 เท่า
การ เลือกใช้หลังคาที่มีฉนวนกันความร้อน และติดแผงโซลาเซลเพื่อดึงแสงแดดมาผลิตไฟฟ้า ต้องสอดรับกับการมุงหลังคา ทำให้เป็น “หลังคาขนมชั้น” ชั้นหนึ่งมุงเอียง 35 องศา เพื่อให้โซลาเซลรับแสงได้ดีสุด แต่ผลเสีย คือ ฝุ่นบนหลังคาเยอะ จึงต้องขยับให้อีกชั้นมุงเอียง 20 องศา เพื่อลดปัญหาเรื่องฝุ่น และเป็นมุมที่ดีที่สุดในการกักเก็บ “น้ำค้าง” มาไว้ใช้หมุนเวียนเป็นน้ำภายในบ้าน

แตกต่างจากการวางองศาของบ้านทั่วไป ซึ่งจะอยู่ที่ ละติจูด 14 องศาเหนือ
ศ.ดร.สุนทร กล่าวต่อว่า ส่วนการติดตั้งโซลาเซล กับกังหันลม เพื่อให้บ้านผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เลือกที่จะติดตั้งโซลาเซล 63 ตารางเมตร ต้นทุนรวม 1.4 ล้านบาท ผลิตไฟได้ 22 หน่วย ใช้ 15 หน่วย เหลือ 7 หน่วย เพื่อขาย ซึ่งบ้านนี้จะมี 2 มิเตอร์ คือ มิเตอร์ซื้อไฟ กับมิเตอร์ขายไฟ เฉลี่ยต่อเดือนสามารถขายไฟได้ 1,000 บาท และไม่เสียค่าไฟให้การไฟฟ้าฯ เลย
“แต่พฤติกรรมการใช้ไฟ ก็ต้องเพียงพอด้วยเช่นกัน เพราะหากใช้ไฟอย่างบ้านทั่วไป อาจต้องใช้ต้นทุนในการติดโซลาเซลสูงถึง 25 ล้านบาท ถึงจะผลิตไฟได้เพียงพอกับการใช้”

ประตู หน้าต่าง พีวีซี จึงเข้ามามีบทบาทด้วย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการรั่วซึมหรือรอยแตก รอยแยก รอยหด เพราะหน้าต่างพีวีซีไม่หดและทนทานต่อแสงยูวี  ทำให้แอร์ไม่รั่วออก และความร้อนจากด้านนอกจะไม่เข้ามา แอร์ก็จะไม่ทำงานหนัก

เพราะแอร์ถือ ว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด ก็ต้องทำให้แอร์ทำงานน้อยลง แต่ให้ความเย็นเท่าเดิม ด้วยการ ปลูกต้นไม้ให้อากาศภายนอกลดลงได้อย่างน้อย 1-2 องศา หรือสูงสุดที่ 3 องศา
รวมถึง การนำคอยซ์ร้อนจากคอมเพรสเซอร์ของแอร์ ลงสู่สระว่ายน้ำ เพื่อให้ความร้อนจาก คอมเพรสเซอร์ระบายลงสระว่ายน้ำแทนการระบายสู่อากาศภาย นอก ทำให้อากาศภายนอกมีอุณหภูมิที่เท่าเดิม ไม่เพิ่มขึ้นเพราะความร้อนของคอมเพรสเซอร์เหมือนปกติ ส่งผลให้การใช้แอร์ทั้งบ้านลดลงเหลือเพียง 1 ตันเท่านั้น จากบ้านปกติที่ใช้อยู่ คือ 15 ตารางเมตรต่อตัน

นอกจากนี้ ในส่วนของการประหยัดพลังงานน้ำ ต้องออกแบบให้สามารถผลิตน้ำใช้เอง โดยไม่ใช่น้ำประปาฯ พร้อมกับรีไซเคิลน้ำได้ ซึ่งอาศัยการเก็บกักน้ำแอร์ น้ำค้าง และน้ำฝน มีระบบรีไซเคิลน้ำทั้งหมดที่อยู่ภายในบ้านให้สามารถนำน้ำเหล่านี้กลับมาใช้ ได้อีกครั้ง แต่ต้องอาศัยการใช้น้ำอย่างประหยัด
เฉลี่ยแล้วผลิตได้ ประมาณ 200 ลิตรต่อวัน เท่ากับปริมาณเฉลี่ยการใช้น้ำต่อคนต่อวัน แต่บ้านที่ออกแบบต้องอาศัยอยู่ 4 คน จึงอาศัยการใช้น้ำอย่างประหยัด  50 ลิตรต่อคนต่อวัน 4 คนในบ้านก็เป็น 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ทำให้บ้านหลังนี้ “ไม่ต้องเสียค่าน้ำ” ให้การประปาฯ เลย

การใช้ “แก๊สหุงต้ม” ก็อาศัยการผลิตเอง ด้วยการรีไซเคิล เศษอาหาร เศษใบไม้ ใบหญ้าที่อยู่ภายในบ้าน มาหมักให้เกิดแก๊ส แล้วนำมาใช้หุงต้ม จึงไม่จำเป็นต้องซื้อแก๊สหุงต้มจากเอกชนเลย และอย่างที่กล่าวมาต่อเนื่องว่า จะต้องใช้พลังงานอย่างประหยัด การใช้พลังงานแก๊สก็ต้องใช้อย่างพอเพียงด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจมีคำถามว่า ขั้นตอนในการก่อสร้างที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้นทุนก่อสร้างจะ “บานปลาย” แค่ไหน
ศ.ดร.สุนทร กล่าวว่า ต้องยอมรับหากจะทำบ้านประหยัดพลังงานต้องเป็นบ้านเดี่ยว เพราะจะมีพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ และสระว่ายน้ำ มูลค่าก่อสร้าง 2.4 ล้านบาท

แบ่งเป็น เฟอร์นิเจอร์ 5 แสนบาท สระว่ายน้ำ 7 แสนบาท โซลาเซล 63 ตารางเมตร 1.4 ล้านบาท กระจกลามิเนต ตารางเมตรละ 3,500 บาท

แต่ เนื่องจากเป็นการใช้ผนังรับน้ำหนัก ไม่ใช่เสา ไม่ใช่คาน และไม่ใช่โครงสร้างเหล็ก ต้นทุนจึงไม่ผันผวนตามการปรับราคาของวัสดุก่อสร้าง อีกทั้ง ระยะเวลาการก่อสร้างที่ค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงลดต้นทุนแรงงานได้ 7-8 เท่า

“ค่าก่อสร้าง 8 เดือน กับ 1 เดือนค่าแรงมันต่างกันอย่างชัดเจน ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งคีย์สำคัญที่ทำให้บ้านประหยัดพลังงานมีต้นทุนที่ถูกลง”

ขณะ ที่บางคนมีบ้านอยู่แล้ว หากต้องการปรับให้เป็นบ้านประหยัดพลังงานสามารถทำได้ 30-40% คือ เปลี่ยนวัสดุบางอย่าง เช่น ประตู หน้าต่าง เพิ่มระบบฉนวนกันความร้อนให้กับหลังคา พร้อมกับผสมผสานการใช้ระบบไม่ปรับอากาศและระบบปรับอากาศ ก็สามารถช่วยให้อุณหภูมิภายในบ้านลดลงได้บ้างเช่นกัน

แม้ว่าการออกแบบ บ้านประหยัดพลังงานจะดูซับซ้อน แต่ที่ยากกว่าเห็นจะเป็นการดีไซน์ชีวิตให้ “พอเพียง” จึงจะได้บ้านที่ประหยัดพลังงานสมบูรณ์แบบจริงๆ


เรื่อง : สุกัญญา สินถิรศักดิ์

-----[FreeSplanS.com]-----ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์-----

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...